กูดกิน ๑

Diplazium esculentum (Retz.) Sw.

ชื่ออื่น ๆ
กูดขาว, ผักกูดขาว (ชลบุรี); กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน); ผักกูด (กลาง); หัสดำ (นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี)
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าสั้น ตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น กลุ่มใบย่อยคู่ล่าง ๆ มักลดขนาด ใบย่อยรูปขอบขนานกลุ่มอับสปอร์เรียงตามยาวเส้นใบย่อยมีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

กูดกินชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าตั้งตรง อาจสูงได้มากกว่า ๑ ม. มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มขอบดำ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบเกล็ดหยักซี่ฟัน

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แผ่นใบมีขนาดต่าง ๆ กัน มักยาวมากกว่า ๑ ม. ก้านใบยาวประมาณ ๗๐ ซม. กลุ่มใบย่อยคู่ล่าง ๆ มักลดขนาด กว้างประมาณ ๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม

 ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปกึ่งหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบหยักเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย แฉกปลายมน ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาแบบขนนกยื่นเข้าไปในแต่ละแฉก เส้นใบย่อยมีประมาณ ๑๐ คู่ สานกับเส้นใบที่อยู่ในแฉกติดกันเป็นร่างแห ก้านใบย่อยสั้นหรือไม่มีกลุ่มอับสปอร์เรียงตามยาวเส้นใบย่อย มักเชื่อมกับกลุ่มอับสปอร์ที่อยู่ในแฉกติดกันซึ่งมีเส้นใบมาสานกัน

 กูดกินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นอยู่บริเวณดินแฉะ ๆ หรือริมลำธารที่ได้รับแสงเต็มที่บนพื้นที่ระดับต่ำถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม.


ในต่างประเทศพบบริเวณเขตศูนย์สูตรของเอเชีย จีนตอนกลางญี่ปุ่นตอนใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

 ใบอ่อนทำให้สุกแล้วกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดกิน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diplazium esculentum (Retz.) Sw.
ชื่อสกุล
Diplazium
คำระบุชนิด
esculentum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan
- Swartz, Olof (Peter)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan (1742-1821)
- Swartz, Olof (Peter) (1760-1818)
ชื่ออื่น ๆ
กูดขาว, ผักกูดขาว (ชลบุรี); กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน); ผักกูด (กลาง); หัสดำ (นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด